วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

แมวลายหินอ่อน



แมวลายหินอ่อน (อังกฤษ: Marbled cat) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์เสือ (Felidae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pardofelis marmorata ที่มีขนาดเท่ากับแมวบ้าน (Felis catus) แต่มีหางยาวกว่าและมีขนที่หางมากกว่า หัวมีขนาดเล็ก กลมมน สีขนมีลวดลายเป็นแถบหรือเป็นดวงคล้ายลวดลายของเสือลายเมฆ (Neofelis nebulosa) หรือลวดลายบนหินอ่อน
ปัจจุบันนักวิชาการแบ่งแมวลายหินอ่อนออกเป็น 2 ชนิดย่อย ได้แก่ P. m. marmorata และ P. m. charltoni
ถิ่นอาศัยของแมวลายหินอ่อนอยู่ในรัฐอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เนปาล (P. m. chartoni) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะบอร์เนียว และเกาะสุมาตรา เมื่ออยู่ในป่าทึบตามธรรมชาติจะพบเห็นได้น้อย ปัจจุบันยังมีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับแมวชนิดนี้อยู่น้อย และยังไม่ทราบจำนวนประชากรที่แน่นอน ขณะเดียวกันป่าที่เป็นถิ่นอาศัยก็มีพื้นที่ลดลง ทำให้ปัจจุบันแมวชนิดนี้อยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
พฤติกรรมของแมวลายหินอ่อน เมื่ออยู่ในที่เลี้ยงค่อนข้างดุร้ายกว่าเสือหรือแมวป่าชนิดอื่น ๆ มีอายุในสถานที่เลี้ยงยืนสุด 12 ปี

นกกระเรียนไทย






นกกระเรียนไทย หรือ นกกระเรียน (อังกฤษ: Sarus Crane) เป็นนกขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่นกอพยพ พบในบางพื้นที่ของอนุทวีปอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ประเทศออสเตรเลีย เป็นนกบินได้ที่สูงที่สุดในโลก เมื่อยืนจะสูงถึง 1.8 ม.[3] สังเกตเห็นได้ง่าย[4] ในพื้นที่ชุ่มน้ำเปิดโล่ง นกกระเรียนไทยแตกต่างจากนกกระเรียนอื่นในพื้นที่เพราะมีสีเทาทั้งตัวและมีสีแดงที่หัวและบริเวณคอด้านบน หากินในที่ลุ่มมีน้ำขังบริเวณน้ำตื้น กินราก หัว แมลง สัตว์น้ำ และ สัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร นกกระเรียนไทยเหมือนกับนกกระเรียนอื่นที่มักมีคู่ตัวเดียวตลอดชีวิต นกกระเรียนจะปกป้องอาณาเขตและเกี้ยวพาราสีโดยการกางปีก ส่งเสียงร้อง กระโดดซึ่งดูคล้ายกับการเต้นรำ ในประเทศอินเดียนกกระเรียนเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ในชีวิตแต่งงาน เชื่อกันว่าเมื่อคู่ตายนกอีกตัวจะเศร้าโศกจนตรอมใจตายตาม ฤดูผสมพันธุ์หลักอยู่ในฤดูฝน คู่นกจะสร้างรังเป็น"เกาะ"รูปวงกลมจากกก อ้อ และ พงหญ้า มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบสองเมตรและสูงเพียงพอที่จะอยู่เหนือจากน้ำรอบรัง นกกระเรียนไทยกำลังลดลงอย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ผ่านมา คาดกันว่าประชากรมีเพียง 10 หรือน้อยกว่า (ประมาณ 2.5%) ของจำนวนที่มีอยู่ในคริสต์ทศวรรษ 1850 ประเทศอินเดียคือแหล่งที่มั่นของนกชนิดนี้ ที่ซึ่งนกเป็นที่เคารพและอาศัยอยู่ในพื้นที่การเกษตรใกล้กับมนุษย์ นกกระเรียนนั้นสูญหายไปจากพื้นที่การกระจายพันธุ์ในหลายๆพื้นที่ในอดีต

ในประเทศไทย พบนกกระเรียนไทยชนิดย่อย G. a. sharpii เพียงชนิดเดียว อาศัยตามทุ่งนา และพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันจัดว่าสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว

นกแต้วแร้วท้องดำ





นกแต้วแร้วท้องดำ หรือ นกแต้วแล้วท้องดำ (อังกฤษ: Gurney's Pitta, ชื่อวิทยาศาสตร์: Pitta gurneyi) เป็นนกที่พบในพม่าและไทย ปัจจุบันพบได้ที่ เขานอจู้จี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ประเทศไทยแห่งเดียวในโลกเท่านั้น
นกแต้วแร้วท้องดำถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2418 ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า มีรายงานการพบครั้งสุดท้าย ในประเทศพม่าปี พ.ศ. 2457 และไม่พบอีกเลยติดต่อกันนานถึง 50 ปี ทำให้ CITES ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ถูกค้นพบในประเทศไทยโดย Philip D. Rould และ อุทัย ตรีสุคนธ์ [1] โดยพบ 44-45 คู่ แต่ในปี พ.ศ. 2540 เหลือเพียง 9 คู่เท่านั้น ปัจจุบันคาดว่ามีอยู่ประมาณ 13-20 คู่เท่านั้น จึงถูกให้เป็นสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิดของไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่ง IUCN เคยประเมินสถานภาพให้อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CE) แต่จากการที่การสำรวจพบประชากรของนกชนิดนี้ในประเทศพม่ามากขึ้น ในปี พ.ศ. 2551 จึงปรับสถานภาพให้ดีขึ้นเล็กน้อยเป็นใกล้สูญพันธุ์ (EN)
นกแต้วแร้วท้องดำ เป็นหนึ่งในนกแต้วแร้ว (Pitta sp.) 12 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย รูปร่างอ้วนป้อม คอสั้น หัวโต หางสั้น ลำตัวยาว 22 เซนติเมตร ตัวผู้หัวมีสีดำ กระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำเงินเหลือบฟ้า หางสีน้ำเงินอมเขียว ท้องสีเหลืองสดมีริ้วสีดำบาง ๆ พาดสลับตลอดช่วงท้อง ใต้ท้องมีแต้มสีดำ อันเป็นที่มาของชื่อ ตัวเมียกระหม่อมสีเหลืองอ่อน มีแถบดำผ่านใต้ตาลงไปถึงแก้ม ท้องสีขาว มีแถบสีน้ำตาลขวางจากอกลงไปถึงก้น
อาศัยอยู่ในป่าดิบที่ราบต่ำ ซึ่งมีระดับความสูงไม่เกิน 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบตามที่ราบ ใกล้ร่องน้ำหรือลำธารที่ชื้นแฉะ ไม่ชอบอยู่บริเวณที่มีไม้พื้นล่างขึ้นรกทึบ
หากินด้วยการกระโดดหาแมลงบนพื้นดินกินหรืออาจขุดไส้เดือนดินขึ้นมากิน บางครั้งอาจจับกบ และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กด้วย โดยเฉพาะในช่วงมีลูกอ่อน
นกตัวผู้จะร้องหาคู่ด้วยเสียง 2 พยางค์ เร็ว ๆ ว่า "ท-รับ" แต่ถ้าตกใจจะร้องเสียงว่า "แต้ว แต้ว" เว้นช่วงแต่ละพยางค์ประมาณ 7-8 วินาที และอาจร้องนานเป็นชั่วโมง ส่วนเสียงที่ใช้ในการสื่อสารกันระยะใกล้จะใช้เสียงนุ่มดังว่า "ฮุ ฮุ"
มีฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ออกไข่คราวละ 3-4 ฟอง

กวางผา





กวางผา หรือ กวางผาจีน (อังกฤษ: Chinese goral) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกสัตว์กีบคู่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Naemorhaedus griseus อยู่ในวงศ์ Bovidae

ลักษณะ

มีรูปร่างหน้าตาคล้ายแพะ มีหูยาว ขนตามลำตัวหยาบและหนามีสีเทาหรือน้ำตาลเทา มีแถบสีดำพาดอยู่กลางหลัง กวางผาตัวเมียจะมีสีขนอ่อนกว่าตัวผู้ บริเวณลำคอด้านในมีขนสีอ่อน ริมฝีปากและรอบ ๆ ตาสีขาว เขาสั้นมีสีดำ กวางผาตัวผู้จะมีเขาที่หนาและยาวกว่าตัวเมีย มีความยาวลำตัวและหัว 82-120 เซนติเมตร ความยาวหาง 7.5-20 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 50-60 เซนติเมตร น้ำหนัก 22-32 กิโลกรัม ผสมพันธุ์ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม ใช้เวลาตั้งท้องนาน 6 เดือน ออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว เป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย เมื่อตกใจจะส่งเสียงร้องสั้นและสูงเป็นสัญญานเตือนภัยถึงตัวอื่น ๆ ในฝูง มักออกหากินตามทุ่งหญ้าโล่งในเวลาก่อนพระอาทิตย์ตกดินจนถึงเวลาเช้าตรู่ จะกินหญ้า ยอดอ่อนของใบไม้ รากไม้ และลูกไม้เปลือกแข็งจำพวกก่อเป็นอาหารหลัก สามารถว่ายน้ำได้ดีเหมือนเลียงผา (Capricornis sumatraensis) และเคยมีรายงานว่า เคยลงมากินน้ำและว่ายข้ามแม่น้ำ มีอายุเต็มที่ 11 ปี

เลียงผา




เลียงผา หรือ เยียงผา หรือ โครำ (อังกฤษ: Common serow, Mainland serow) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง อยู่ในอันดับสัตว์กีบคู่ วงศ์ Bovidae อันเป็นวงศ์เดียวกับแพะ, แกะ และวัว

ลักษณะ
   
มีรูปร่างหน้าตาคล้ายแพะ ลำตัวสั้น ขายาว ขนมีเส้นเล็กและหยาบ ขนตามลำตัวมีสีเทาอมดำ บริเวณท้องจะมีสีอ่อนกว่า สีของเลียงผาวัยอ่อนจะมีสีเข้ม แต่จะอ่อนลงเรื่อย ๆ เมื่อโตตามวัย จนดูคล้ายกับสีเทา สีขนบริเวณหน้าแข้งหรือใต้หัวเข่ามีหลากหลาย บางตัวอาจมีสีดำ บางตัวอาจมีสีเทาหรือสีน้ำตาลเหลือง มีแผงคอยาวในบางตัวอาจพาดไปถึงหัวไหล่ มีต่อมขนาดใหญ่อยู่ใต้ตาเห็นได้ชัดเจน ริมฝีปากมีสีขาว หูยาวคล้ายลา มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย มีรูปร่างคล้ายเขาของแพะ แต่เขาตัวเมียจะสั้นกว่าตัวผู้
เลียงผามีขนาดความยาวลำตัวและหัว 140-155 เซนติเมตร ความยาวหาง 115-160 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 85-94 เซนติเมตร น้ำหนัก 85-154 กิโลกรัม

สมัน





สมัน หรือ เนื้อสมัน หรือ กวางเขาสุ่ม (อังกฤษ: Schomburgk's deer) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกสัตว์กีบคู่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rucervus schomburgki
เป็นกวางขนาดกลาง ขนตามลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ท้องมีสีอ่อนกว่า ริมฝีปากล่างและด้านล่างของหางเป็นสีขาว มีลักษณะเด่นคือ ตัวผู้จะมีเขาแตกแขนงออกไปมากมายเหมือนกิ่งไม้ แลดูสวยงาม จึงได้ชื่อว่าเป็นกวางที่มีเขาสวยที่สุดในโลก มีกิ่งรับหมาหรือกิ่งเขาที่ยื่นออกไปข้างหน้ายาวกว่ากิ่งรับหมาของกวางชนิดอื่น ๆ สมันมีความยาวลำตัว 180 เซนติเมตร ความยาวหาง 10 เซนติเมตร มีความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 100-110 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 100-120 กิโลกรัม
มีการกระจายพันธุ์เฉพาะในที่ราบลุ่มภาคกลางของไทยเท่านั้น รวมถึงบริเวณกรุงเทพมหานครในปัจจุบันด้วย โดยอาศัยอยู่ในที่ทุ่งโล่งกว้าง ไม่สามารถหลบหนีเข้าป่าทึบได้เนื่องจากกิ่งก้านของเขาจะไปติดพันกับกิ่งไม้ จึงเป็นจุดอ่อนให้ถูกล่าได้อย่างง่ายดาย ในสมัยอดีต ชาวบ้านจะล่าสมันด้วยการสวมเขาปลอมเป็นตัวผู้เพื่อล่อตัวเมียออกมา จากนั้นจึงใช้ปืนหรือหอกพุ่งยิง
ปัจจุบัน สมันสูญพันธุ์แล้ว สมันในธรรมชาติตัวสุดท้ายถูกนายตำรวจคนหนึ่งยิงตายเมื่อ พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดกาญจนบุรี สมันตัวสุดท้ายในที่เลี้ยงถูกครูพละคนหนึ่งตีตายที่วัดแห่งหนึ่งในตำบลมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ พ.ศ. 2481
ในปี พ.ศ. 2534 มีรายงานว่าพบซากเขาสมันสดขายในร้านขายยาใจกลางเมืองพงสาลี และแขวงหลวงพระบาง ทางภาคเหนือของลาว ทำให้สันนิษฐานว่าอาจจะมีสมันหลงเหลืออยู่ในประเทศลาวก็เป็นได้ แต่เรื่องนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันเพียงพอ

ละองหรือละมั่ง




ละองละมั่ง (อังกฤษ: Eld's deer, Thamin, Brow-antlered deer; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rucervus eldii) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบคู่ชนิดหนึ่ง เป็นกวางขนาดกลาง ขนตามลำตัวสีน้ำตาลแดง แต่สีขนจะอ่อนลงเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ขนหยาบและยาว ในฤดูหนาวขนจะยาวมาก แต่จะร่วงหล่นจนดูสั้นลงมากในช่วงฤดูร้อน
ในตัวผู้จะเรียกว่า ละอง ตัวเมียซึ่งไม่มีเขาจะเรียกว่า ละมั่ง แต่จะนิยมเรียกคู่กัน ละองตัวที่ยังโตไม่เต็มวัยจะมีขนแผงคอที่ยาว ลูกแรกเกิดจะมีจุดสีขาวกระจายอยู่รอบตัว และจุดนี้จะจางหายเมื่ออายุมากขึ้น ขอบตาและริมฝีปากล่างมีสีขาว มีความยาวลำตัวและหัว 150-170 เซนติเมตร ความยาวหาง 220-250 เซนติเมตร น้ำหนัก 95-150 กิโลกรัม
ถูกแบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย ในประเทศไทยพบ 2 ชนิดได้แก่
  • ละองละมั่งพันธุ์ไทย หรือ ละองละมั่งอินโดจีน (R. e. siamensis) มีลักษณะสีขนอย่างที่บอกข้างต้น เขาจะโค้งขึ้น กางออกแล้วโค้งไปข้างหน้าคล้ายตะขอ ปลายเขาจะแตกออกเป็นแขนงเล็ก ๆ มีการกระจายพันธุ์อยู่ที่ไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันนี้มีฝูงใหญ่ที่สุดที่สวนสัตว์ดุสิต
  • ละองละมั่งพันธุ์พม่า หรือ ตามิน ในภาษาพม่า (R. e. thamin) มีหน้าตาคล้ายละองละมั่งพันธุ์ไทย แต่สีขนจะออกสีน้ำตาลเหลือง กิ่งปลายเขาจะไม่แตกแขนงเท่าละองละมั่งพันธุ์ไทย พบกระจายพันธุ์อยู่ที่ตะเข็บชายแดนระหว่างไทยกับพม่า แถบเทือกเขาตะนาวศรี
ละองละมั่ง จะอาศัยและหากินในทุ่งหญ้าโปร่ง ไม่สามารถอยู่ในป่ารกชัฏได้ เนื่องจากเขาจะไปติดกับกิ่งไม้เหมือนสมัน (R. schomburgki) อาหารหลักได้แก่ หญ้า ยอดไม้ และผลไม้ป่าต่าง ๆ เป็นสัตว์ที่ชอบรวมฝูง ในอดีตอาจพบได้มากถึง 50 ตัว บางครั้งอาจเข้าไปหากินและรวมฝูงกับสัตว์ที่ใหญ่และแข็งแรงกว่า อย่าง วัวแดง (Bos javanicus) หรือ กระทิง (B. gaurus) เพื่อพึ่งสัตว์เหล่านี้ในความปลอดภัย มีฤดูผสมพันธุ์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ตั้งท้องนาน 8 เดือน สถานภาพปัจจุบันเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว และเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ละองละมั่งที่พบในธรรมชาติ ปัจจุบันนี้ ส่วนมาก เกิดจากการเพาะขยายพันธุ์โดยมนุษย์
ในกลางปี พ.ศ. 2554 ในประเทศไทย โดยองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสบความสำเร็จในการผลิตละองละมั่งในหลอดแก้วเป็นครั้งแรกในโลก โดยแม่ละมั่งที่รับอุ้มท้องได้ตกลูกออกมาเป็นเพศเมียเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ปีเดียวกัน ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี โดยเป็นละองละมั่งพันธุ์พม่า